ความรู้

ความรู้

ออกแบบบ้านอย่างไร? ให้ประหยัดไฟในช่วงหน้าร้อน

วันที่สร้างประกาศ เวลาสร้าง 7 มีนาคม 2567 10:24
ตอนนี้ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่ฤดูร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นกรมอุตุนิยมวิทยายังบอกอีกด้วยว่า ปีนี้อากาศจะร้อนกว่าปีที่แล้ว หรือร้อนกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส เชื่อว่าหลายคนคงกุมขมับกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดแอร์ตลอดทั้งวันแน่นอน คราวนี้ก็ไม่รู้ว่าระหว่างอากาศกับใจ อะไรจะร้อนรุ่มกว่ากันนะ
สำหรับใครที่มีแพลนจะสร้างบ้าน สามารถรับมือกับปัญหาอากาศร้อน ค่าไฟแพงได้ตั้งแต่แรก โดยการออกแบบบ้านที่ช่วยประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อน หรือการหันตัวบ้านไปในทิศที่เหมาะสม จะได้ลดการใช้แอร์หรือพัดลมได้แม้อุณหภูมิจะสูงปรี๊ดแค่ไหนก็ตาม
หันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือ

ทิศเหนือเป็นทิศที่โดนแดดน้อยที่สุด ไม่ว่าดวงอาทิตย์จะแผงฤทธิ์แรงกล้าแค่ไหนก็ไม่หวั่น นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวลมจะพัดมาจากทิศเหนือ ทำให้บ้านได้รับลมเย็นสบายอย่างเต็มที่ แต่ถ้าไม่สามารถหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือได้จริง ๆ อาจจะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ทิศใต้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน เพราะการหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ จะทำให้ได้รับลมตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝนประมาณ 7 – 8 เดือน หรือเกือบทั้งปีเลยทีเดียว
เลือกวัสดุกันความร้อนได้ดี

ไม่ว่าฤดูไหน อากาศประเทศไทยก็มีแค่ร้อน ร้อนมาก และร้อนแบบตะโกน! เพราtฉะนั้นการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี จะช่วยทำให้บ้านเย็นลง อย่างเช่น หลังคาบ้าน อาจเลือกใช้เป็นกระเบื้องหลังคาแบบไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งมีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี

หรือกระเบื้องหลังคาแบบเซรามิกที่มีจุดเด่นที่การระบายความร้อน หรือผนังเลือกใช้อิฐมวลเบาที่มีความหนามาก เพราะจะยิ่งช่วยกันความร้อนได้มากตามไปด้วย นอกจากนี้ ผนังด้านไหนของตัวบ้านที่ถูกแสงมากเป็นพิเศษ ก็ให้ใช้คอนกรีตมวลเบา และฉนวนกันความร้อน ก็จะช่วยให้บ้านเย็นลงได้
ติดตั้งฉนวนกันความร้อน

การติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา บนฝ้า หรือในผนัง จะช่วยดูดซับและป้องกันความร้อนให้เหลือน้อยที่สุดก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน เรียกได้ว่า ดวงอาทิตย์สู้มา ฉนวนพร้อมสู้กลับแน่นอนนน ยังไม่หมดเท่านั้น การติดตั้งฉนวนกันความร้อนยังช่วยลดการสะสมความร้อน ทำให้บ้านไม่ร้อนอบอ้าวก่อนฝนตกอีกด้วย
รั้วโปร่ง ลมผ่านสะดวก

รั้วบ้านที่มีลักษณะโปร่งโล่ง หรือรั้วแบบซี่ มีจุดเด่นอยู่ที่การรับลมได้เต็มที่แบบไม่มีอะไรกั้น อีกทั้งยังช่วยให้รู้สึกไม่อึดอัด ต่างจากรั้วแบบทึบที่นอกจากลมจะไม่สามารถผ่านเข้ามาสู่ตัวบ้านได้อย่างสะดวกแล้ว ยังทำให้รู้สึกอุดอู้ด้วย ยิ่งถ้าช่วงหน้าหนาว ตัวบ้านคงได้รับลมหนาวเข้ามาเต็ม ๆ เลยล่ะ
ติดตั้งชายคาให้ยื่นออกจากตัวบ้านอย่างน้อย 1 เมตร

ชายคาบ้านที่ยื่นยาวออกไป เปรียบเสมือนหมวกป้องกันแสงแดด ยิ่งปีกหมวกกว้าง ยิ่งบังแดดได้ดี ชายคาบ้านก็เช่นกัน ยิ่งยื่นออกห่างจากตัวบ้านมาก ก็ยิ่งช่วยบังแดดได้มากขึ้น โดยระยะที่เหมาะสมของการยื่นชายคาต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร หรือถ้าให้ดีควรอยู่ที่ประมาณ 1.00 – 1.80 เมตร ขึ้นอยู่กับการออกแบบตัวบ้านว่าควรมีระยะยื่นชายคาที่เท่าไหร่
ติดกระจกลดความร้อน

ปัจจุบันคนนิยมติดกระจกที่ผนังของตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประตู หรือหน้าต่าง เนื่องจากมีความสวยงาม และสามารถมองเห็นวิวโดยรอบได้ชัดเจน ซึ่งกระจกก็มีให้เลือกหลายแบบ แต่ถ้าต้องการให้ตอบโจทย์ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แนะนำกระจกสีตัดแสง และกระจกชนิดแผ่รังสีต่ำ (Low – E) นอกจากนี้ การติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกอีกทีก็ยิ่งช่วยได้มากขึ้นทีเดียว
ตำแหน่งของหน้าต่างลดความร้อน

หน้าต่างเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่ต้องมี เพื่อช่วยระบายอากาศภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความร้อนหรือแม้กระทั่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่แค่ติดตั้งหน้าต่างเท่านั้นเห็นทีคงไม่พอ ยิ่งถ้าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมล่ะก็ หน้าต่างอาจช่วยอะไรได้ไม่มาก ความหมายคือ ในเมื่อวัตถุประสงค์หลักของการติดตั้งหน้าต่างคือระบายความร้อน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ควรติดหน้าต่างในแต่ละห้องอย่างน้อย 2 ด้าน เพื่อให้ลมระบายได้ดี อีกทั้งในจุดที่มีหน้าต่างก็ไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของต่าง ๆ มาวางบังลม
ยังไงก็ตาม แม้การออกแบบบ้านที่ช่วยป้องกันความร้อนอาจไม่สามารถทำให้บ้านเย็นได้แบบ 100% เพราะสภาพอากาศประเทศไทยไม่เคยปรานีใคร แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้บ้านร้อนจนทนไม่ไหว หรือในหน้าร้อนก็อาจไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ตลอดทั้งวันทั้งคืน หรือไม่ต้องลดอุณหภูมิแอร์จนต่ำเกินไป

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ดูหัวข้ออื่นเพิ่มเติม