ความรู้

ความรู้

🔥 รู้หรือไม่ว่า จริงๆแล้วประเภทการจดทะเบียนเช่าทั้งหมด มีถึง 22 รูปแบบ !!!

matching
วันที่สร้างประกาศ เวลาสร้าง 10 มิถุนายน 2567 14:28
หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์การเช่ามาบ้างแล้ว
แต่ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยการเช่าอยู่ไม่กี่แบบ
ที่เห็นกันส่วนใหญ่ก็จะมี
เช่าระยะสั้น (ไม่เกิน 3 ปี)
เช่าระยะยาว (เกิน3ปีแต่ไม่เกิน 30ปี)
หรือการเช่าช่วง (เช่าซ้อนเช่า)
แต่รู้หรือไม่ว่า? จริงๆ แล้ว
ประเภทการจดทะเบียนเช่าทั้งหมดมีถึง 22 รูปแบบ
ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยได้ใช้ทุกเคส
แต่ก็อยากมาเขียนทิ้งไว้ เผื่อ FC ท่านใดอาจได้มีโอกาสได้ใช้ในภายภาคหน้า

หรือแม้กระทั่งการที่เจ้าหน้าที่พูดถึงการเช่าแบบใด
เราจะได้เข้าใจว่าเค้ากำลังหมายถึงอะไร
การเช่ามีทั้งหมด 22 รูปแบบดังนี้
1.เช่า(ทั้งหมด)
2.เช่าเฉพาะส่วน
3.แบ่งเช่า
4.แบ่งเช่าเฉพาะส่วน
5.เช่าช่วง
6.เช่าช่วงเฉพาะส่วน
7.แบ่งเช่าช่วง
8.แบ่งเช่าช่วงเฉพาะส่วน
9.โอนสิทธิ์การเช่า
10.โอนสิทธิ์การเช่าเฉพาะส่วน
11.แบ่งโอนสิทธิ์การเช่า
12.แบ่งโอนสิทธิ์การเช่าเฉพาะส่วน
13.โอนมรดกการเช่า
14.แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่า หรือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาแบ่งเช่า
15.เลิกเช่า
16.เลิกเช่าบางส่วน
17.เลิกเช่าช่วง
18.เลิกเช่าช่วงบางส่วน
19.ปลอดการเช่า
20.แบ่งแยกในนามเดิม(ปลอดการเช่า)
21.แบ่งแยกในนามเดิม(ครอบการเช่า)
22.แบ่งแยกในนามเดิม(ครอบ-ปลอดการเช่า)

ซึ่งจะในแต่ละประเภท
ผมจะเขียนภาษาไว้ 2 แบบ
นั่นคือ #ภาษาพูด
ที่อธิบายแบบภาษาบ้านๆ
เข้าใจง่าย
กับ #ภาษาเขียน
ซึ่งเป็นความหมายทางการ
ที่อธิบายในผลของลักษณะทางกฏหมาย
ชาวบ้านทั่วไปอ่านแล้วจะงงๆ
เพราะคำที่ใช้อธิบาย
เชื่อว่าหลายคนยากจะเข้าใจ

ตอนผมอ่านแล้วตีความ
ต้องใช้สติและสมาธิพอสมควร
เพื่อให้ความหมายที่น่าจะเป็นนั้น
ออกมาเป็นรูปภาพที่ถูกต้องที่สุด
มาเริ่มกันเลย
เริ่มต้นจากการแนะนำตัวละครกันก่อน
เจ้าของที่ดิน/ผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ภาษาอังกฤษคือ Landlord
ภาษาทางกฏหมายคือ Lessor
ส่วนคำว่า Owner
มักจะมีความหมายถึงเจ้าบ้าน
หรือเจ้าของบ้านมากกว่า
ส่วนผู้เช่า
ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tenant
ภาษาทางกฏหมายเรียกว่า Lessee
1.เช่า(ทั้งหมด)
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของมีที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์ใดๆก็ตาม
และมีผู้สนใจมาเช่า
ขอจดทะเบียนการเช่า
เพื่อให้ผู้เช่าได้มาครอบครอง
และใช้ประโยชน์กับที่ดินตรงนี้
.
ไม่ว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์จะมี 1 คน
หรือมากกว่า 1 คน
แต่ถ้าทุกคนยินยอมต้องกัน
ก็สามารถปล่อยเช่าที่ดินได้
.
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าระยะยาว
ถึงมีการจดทะเบียนการเช่า
ต่อหน้าเจ้าหน้าที่
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีผู้มีสิทธิให้เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์
มาขอจดทะเบียนที่ดิน
เพื่อให้บุคคลอื่น เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของตนได้
.
ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์นั้น
จะมีผู้มีสิทธิครอบครองหลายคนหรือไม่
หากผู้มีสิทธิทุกคนยินยอม
ที่จะให้นำมาเช่าได้
2.เช่าเฉพาะส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของกรรมสิทธิ์มีมากกว่า 1 คน
และมีการจดการครอบครองกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนไว้
.
และเมื่อมีคนมาเช่า
จะสามารถเช่าได้เฉพาะส่วนของคนๆนั้นเท่านั้น
ไม่ได้รวมในส่วนของคนอื่นด้วย
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ผู้มีสิทธิให้เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นมีหลายคน
แต่ผู้มีสิทธิให้เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น
.
บางคนขอจดทะเบียนให้บุคคลอื่น
เช่าเฉพาะส่วนของตน
ส่วนของผู้มีสิทธิให้เช่าคนอื่น
ไม่ได้ให้เช่าด้วย
3.แบ่งเช่า
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
กรณีที่มีเจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดียว
หรือหลายคนก็ตาม
.
ทุกคนตกลงกันว่า
จะให้เช่าที่ดินเพียงบางส่วน
ไม่ได้อิงว่า
ส่วนนั้นเป็นของใคร
และรายได้จากการเช่า
เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
.
ยกตัวอย่าง
เหมือนที่ดินแปลงนี้
เป็นที่ดินกงสี
ค่าเช่าที่ได้
ถือว่าเป็นรายได้ที่เอามาใช้กันในครอบครัว
ไม่ใช่ของคนใดคนนึง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ผู้มีสิทธิให้เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
มาขอจดทะเบียน
ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น
เพียงบางส่วน
.
ไม่ว่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น
จะมีผู้มีสิทธิ์ให้เช่าคนเดียวหรือหลายคน
ผู้มีสิทธิให้เช่าทุกคนให้เช่าร่วมกันเพียงบางส่วน
4.แบ่งเช่าเฉพาะส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของที่ดินมีหลายคน
และมีการจดกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนไว้
ของใครของมัน
.
ลุงปล่อยให้ นาย ก. มาเช่าได้
เฉพาะส่วนของลุง
แต่ลุงก็ไม่ได้ปล่อยให้เช่าทั้งหมด
ลุงเก็บไว้ใช้ทำประโยชน์ส่วนนึง
และแบ่งให้ นาย ก. มาเช่าทำประโยชน์ได้
อีกส่วนนึง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีผู้มีสิทธิให้เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
มีหลายคน
แต่ผู้มีสิทธิให้เช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น
บางคนขอจดทะเบียนให้บุคคลอื่น
เช่าเฉพาะส่วนของตน
เพียงบางส่วน
ส่วนของผู้มีสิทธิให้เช่าคนอื่น
ไม่ได้ให้เช่าด้วย
5.เช่าช่วง
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ไม่ว่าเจ้าของที่ดิน
จะมี 1 คนหรือมากกว่า 1 คน
.
ทุกคนต่างยินยอมพร้อมใจกันว่า
ถ้านาย ก.มาเช่า
ก็สามารถให้ผู้เช่านั้น
ปล่อยเช่าให้คนอื่นมาเช่าต่ออีกทอดนึงได้
.
โดยค่าเช่าที่ดินทั้งหมด
ปกติจะเก็บกับนาย ก. แต่เพียงผู้เดียว
ถ้านาย ก. สามารถเอาที่ดิน
ไปปล่อยต่อให้คนอื่น
ได้ในราคาที่สูงกว่า
เจ้าของที่ดินไม่ได้ผลประโยชน์
จาก นาย ข. อีกทอดนึง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่าให้บุคคลอื่น
เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น
ทั้งหมดต่อไปอีกทอดหนึ่ง
.
ไม่ว่าจะมีผู้เช่าคนเดียว
หรือหลายคน
แต่ทุกคนประสงค์ให้บุคคลอื่น
เช่าต่อไปอีกทอดหนึ่ง
6.เช่าช่วงเฉพาะส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของที่ดินมีหลายคน
และได้มีการจดทะเบียนเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
เวลามีผู้เช่ามาเช่า
ก็จะเช่าได้เฉพาะส่วนของตน
ไม่ได้รวมถึงส่วนของเจ้าของอื่น
.
และเมื่อ นาย ก. มาเช่า
นาย ก. ก็จะเก็บบางส่วนไว้ทำประโยชน์เอง
และส่วนที่ไม่ได้ใช้
ก็เอาไปปล่อยให้ นาย ข. เช่าต่ออีกทอดนึง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่า
ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น
เฉพาะส่วนของตนต่อไป
อีกทอดหนึ่ง
.
หรือในกรณีที่
ได้มีการจดทะเบียนเช่าไว้แล้ว
โดยมีผู้เช่าหลายคน
ผู้เช่าบางคนให้เช่าต่อไปอีกทอดหนึ่ง
เฉพาะส่วนของตน
7.แบ่งเช่าช่วง
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของที่ดินมี 1 คน
หรือมากกว่า 1 คน
ได้ตกลงกันว่า
ให้นาย ก. มาเช่าที่ดินบางส่วน
ไม่ได้เช่าทั้งหมด
.
ต่อมานาย ก.
ก็เก็บที่ดินไว้ทำประโยชน์บางส่วน
โดยส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
ก็เอาไปปล่อยต่อให้ นาย ข. อีกต่อนึง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่าให้บุคคลอื่นเช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นบางส่วน
ต่อไปอีกทอดหนึ่ง
.
หรือในกรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนแบ่งเช่าไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่าให้บุคคลอื่นเช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ที่ได้จดทะเบียนแบ่งเช่าไว้แล้วนั้นทั้งหมด
หรือบางส่วนต่อไปอีกทอดหนึ่ง
8.แบ่งเช่าช่วงเฉพาะส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของที่ดินที่มีมากกว่า 1 คน
ได้มีการแบ่งกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนกันไปแล้ว
ต่อมาลุงปล่อยเช่าที่ดิน
เฉพาะส่วนของลุง
ให้กับ นาย ก. มาเช่า
.
โดยลุงก็ไม่ได้ให้ นาย ก. เช่าทั้งหมด
ให้เช่าเพียงบางส่วน
.
ต่อมา นาย ก. ให้ นาย ข.
มาเช่าที่ดินเพื่อทำประโยชน์อีกต่อนึง
โดย นาย ก. ก็เก็บที่ดินบางส่วนไว้ทำประโยชน์เหมือนกัน
ไม่ได้ให้ นาย ข. เช่าทั้งหมด
.

#มันคือการแบ่งเช่าซ้อนแบ่งเช่าอีกทีนึงนั้นเอง

.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่า
ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นบางส่วน
ต่อไปอีกทอดหนึ่ง
.
หรือในกรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่า
ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ที่ได้มีการจดทะเบียนแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้วนั้น
ทั้งหมดหรือบางส่วน
ต่อไปอีกทอดหนึ่ง
9.โอนสิทธิ์การเช่า หรือโอนสิทธิ์แบ่งเช่า
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เมื่อมีการเช่าเกิดขึ้นแล้ว
นาย ก. ไม่สะดวกเอาที่ดินมาทำประโยชน์ใดๆต่อ
แต่ก็ไม่อยาก break สัญญาเช่า
อาจจะเพราะเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น
หรือราคาเช่าที่ดี
.
นาย ก.จึงโอนสิทธิ์การเช่าให้นาย ข.
โดยเงื่อนไขการเช่า
นาย ข. ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าเดิมทั้งหมด
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
หรือแบ่งเช่าไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่า
ประสงคให้โอนสิทธิการเช่าของตน
ที่มีในทรัพย์สินที่เช่า
ให้บุคคลอื่น
สวมสิทธิ์ทีี่ผู้เช่านั้นมีอยู่
10.โอนสิทธิ์การเช่าเฉพาะส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของที่ดินมีมากกว่า 1 คน
และมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนไว้อยู่ก่อนแล้ว
.
เมื่อ นาย ก. มาเช่า
แต่ไม่สะดวกทำประโยชน์ที่ดินต่อ
นาย ก. จึงโอนสิทธิ์การเช่าทั้งหมด
ให้กับ นาย ข. ไปทำประโยชน์ต่อไป
.
หรือกรณีที่มี นาย ก.
มีหุ้นส่วนเช่าที่ดินทำประโยชน์ร่วมด้วย
นาย ก.ก็ยกเฉพาะส่วนของ นาย ก.
ให้ นาย ข. ไป
ไม่ได้ยกส่วนของหุ้นส่วนไปด้วย
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่าประสงค์ให้โอนสิทธิการเช่าของตน
ที่มีในทรัพยสินที่เช่านั้น
ให้แก่บุคคลอื่นเขาสวมสิทธิที่ผู้เช่ามีอยู่ทั้งหมด
.
หรือกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนเช่า
หรือเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
โดยมีผู้เช่าหลายคน
.
ต่อมาผู้เช่าบางคน
ประสงค์ให้โอนสิทธิการเช่าเฉพาะส่วนของตน
ที่มีในทรัพย์สินที่เช่าให้บุคคลอื่น
เขาสวมสิทธิที่ผู้เช่านั้นมีอยู่
11.แบ่งโอนสิทธิ์การเช่าหรือ แบ่งโอนสิทธิ์การแบ่งเช่า
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
เจ้าของที่ดินมี 1 หรือมากกว่า 1 คน
ตกลงร่วมกันแล้วว่า
ปล่อยเช่าที่ดินบางส่วน
.
ต่อมา นาย ก. มาเช่าที่ดินแปลงนี้
และไม่มีเวลามาทำประโยชน์กับที่ดินได้เต็มที่
จึงโอนสิทธิ์ให้กับ นาย ข. ไปทำประโยชน์ต่อ
.
แต่นาย ก. ไม่ได้โอนสิทธิ์ให้ นาย ข.ทั้งหมด
นาย ก. ยังเก็บไว้ทำประโยชน์ส่วนนึง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
หรือแบ่งเช่าไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่า
ประสงค์ให้โอนสิทธิ์การเช่าของตน
ที่มีในทรัพย์สินที่เช่านั้น
ให้บุคคลอื่นเข้าสวมสิทธิ์
ที่ผู้เช่ามีอยู่เพียงบางส่วน
12.แบ่งโอนสิทธิ์การเช่าเฉพาะส่วนหรือแบ่งโอนสิทธิการแบ่งเช่าเฉพาะส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ที่ดินที่มีเจ้าของมากกว่า 1 คน
และได้มีการจดทะเบียนถือครองเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาลุงปล่อยให้นาย ก. เช่าเพียงบางส่วน
ไม่ได้ปล่อยให้นาย ก. เช่าทั้งหมด
.
ต่อมา นาย ก.
ก็ไม่สามารถใช้ที่ดินทำประโยชน์ได้ต่อ
นาย ก. จึง โอนสิทธิ์การเช่าที่ดิน
ให้กับนาย ข.
.
แต่เป็นการโอนให้ นาย ข.
เพียงบางส่วนเท่านั้น
ไม่ได้ให้ทั้งหมด
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าเฉพาะส่วน
หรือแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้เช่า
ประสงค์ให้โอนสิทธิการเช่าของตน
ที่มีในทรัพย์สินที่เช่านั้น
ให้บุคคลอื่นเข้าสวมสิทธิ์
ที่ผู้เช่ามีอยู่เพียงบางส่วน
13.โอนมรดกสิทธิ์การเช่า
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
นาย ก. เช่าที่ดินกับลุงไว้
และได้มีการตกลงกันว่า
.
ถ้า นาย ก. เป็นอะไร
สิทธิและผลประโยชน์ของสัญญาเช่า
ให้ตกไปสู่ทายาทของ นาย ก.
โดยทายาทของนาย ก.
สามารถนำที่ดินแปลงนี้ไปทำประโยชน์
ภายใต้สัญญาเช่าที่เคยตกลงกันไว้
โดยไม่มีการยกเลิกสัญญาใดๆ
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่าไว้แล้ว
.
เมื่อผู้เช่าตายและสิทธิ์การเช่า
ตกแก่ทายาทตามขอตกลง
ที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่า
ได้กระทำไว้ต่อกัน
ให้สิทธิ์การเช่า
ตกเป็นมรดกของผู้เช่าได้ด้วย
.
หรือเนื่องจากเป็นสัญญาเช่า
ต่างตอบแทนชนิดพิเศษ
ยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
.
เมื่อทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกของผู้เช่า
มาขอรับมรดกสิทธิการเช่า
14.แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่า หรือ แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาแบ่งเช่า
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงและนาย ก.
มีการทำสัญญาเช่าร่วมกัน
แต่ภายหลัง
มีการแก้ไขสัญญาเช่าบางอย่างเพิ่มเติมร่วมกัน
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
หรือแบ่งเช่าไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้ให้เช่าและผู้เช่าประสงค์
ขอแก้ไข, เปลี่ยนแปลงข้อตกลง
ในสัญญาเช่าหรือสัญญาแบ่งเช่า
.
รวมทั้งในสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่า
หรือสัญญาแบ่งเช่า
15.เลิกเช่า

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงและนาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
แต่สุดท้ายทั้งคู่มีการขอยกเลิกสัญญาเช่า
และไม่มีผลการเช่าอีกต่อไป
.
(โน้ตนิดนึง)
ปกติถ้ามีการยกเลิกการเช่าก่อนกำหนด
หรือมีการยกเลิกการเช่า
เพราะทำผิดข้อใดข้อนึงในข้อสัญญาเช่ากันไว้
เจ้าของกับผู้เช่า
ควรเซ็นสัญญายกเลิกสัญญาเช่าร่วมกัน
อีกฉบับนึงเสมอ
เพื่อป้องกันภาระการเช่าผูกพัน
ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดในภายหลัง
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน,แบ่งเช่า หรือแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้ให้เช่าและผู้เช่า
ขอเลิกสัญญาเช่าที่ได้จดทะเบียน
ไว้ทั้งหมดดังกล่าว
16.เลิกเช่าบางส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงและนาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
แต่สุดท้ายทั้งคู่มีการขอยกเลิกสัญญาเช่า
แต่เป็นการยกเลิกแค่บางส่วน
ไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน,แบ่งเช่า หรือแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้ให้เช่าและผู้เช่า
ขอเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นบางส่วน
ไม่ได้เลิกเช่าทั้งหมด
โดยบางส่วนยังคงมีการเช่าต่อไป
17.เลิกเช่าช่วง
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงและนาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
และนาย ก. ก็เอาไปปล่อยเช่าให้นาย ข. ต่อ
ต่อมา นาย ข. ขอยกเลิกการเช่าทั้งหมด
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน,แบ่งเช่า หรือแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้ให้เช่าช่วงและผู้เช่าช่วงขอเลิก
สัญญาเช่าช่วงที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าวทั้งหมด
18.เลิกเช่าช่วงบางส่วน
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงและนาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
และนาย ก. ก็เอาไปปล่อยเช่าให้นาย ข. ต่อ
.
ต่อมา นาย ข. ขอยกเลิกการเช่า
แต่เป็นการยกเลิกบางส่วน
ไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน,แบ่งเช่า หรือแบ่งเช่าเฉพาะส่วนไว้แล้ว
.
ต่อมาผู้ให้เช่าช่วงและผู้เช่าช่วง
ขอเลิกสัญญาเช่าช่วงดังกล่าวเป็นบางส่วน
ไม่ได้เลิกเช่าช่วงทั้งหมด
โดยบางส่วนยังคงมีการเช่าช่วงต่อไป
19.ปลอดการเช่า
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแปลงเดิม
หรือที่เคยแบ่งแปลงไว้
ที่มีการครอบการเช่าอยู่เดิม
.
เมื่อมีการเลิกเช่า
ที่ดินไม่ติดภาระผูกพันการเช่ากับคนเช่าเดิม
กรรมสิทธิ์ทั้งหมดกลับไปอยู่เจ้าของที่ดิน
พร้อมให้ผู้สนใจคนใหม่มาเช่าต่อ
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
รวมกันตั้งแต่ 2อสังหาริมทรัพย์ขึ้นไป
.
ได้มีการจดทะเบียนเช่าไว้แล้ว
หรือกรณีที่มีการแบ่งแยกที่ดิน
ที่ได้มีการจดทะเบียนเช่าไว้แล้วออกเป็นหลายแปลง
.
โดยที่ดินแปลงแยกและแปลงคงเหลือ
ยังมีการเช่าครอบติดอยู่ทั้งหมด
หรือมีการเช่าครอบติดอยู่ตั้งแต่ 2 แปลงขึ้นไป
.
ต่อมาคู่กรณีตกลงจดทะเบียน
ให้อสังหาริมทรัพย์ใดอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง
ที่ได้จดทะเบียนเช่ารวมไว้หลายแปลง
หรือได้ครอบการเช่าไว้แล้ว
.
แต่กรณีนั้นพ้นจากการเช่า
ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือยังคงมีการเช่าอยู่ตามเดิม
20.แบ่งแยกในนามเดิม (ปลอดการเช่า)
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงกับ นาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
ต่อมาลุงเอาที่ดินไปแบ่งแปลง
โดยที่ดินที่แบ่งแปลงออกไปนั้น
ไม่ติดภาระผูกพันการเช่าใดๆ กับนาย ก.
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน, แบ่งเช่าไว้แล้ว
.
เจ้าของที่ดิน
ประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินออกจากกัน
.
โดยในขณะจดทะเบียนแบ่งแยก
คู่กรณีตกลงกัน
ให้ที่ดินแปลงแยกออกไป
หรือที่ดินแปลงคงเหลือไม่มีการเช่าอยู่
21.แบ่งแยกในนามเดิม (ครอบการเช่า)
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงกับ นาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
ต่อมาลุงเอาที่ดินไปแบ่งแปลง
โดยที่ดินที่แบ่งแปลงออกไปนั้น
ยังคงอยู่ในการสัญญาเช่าทั้งหมด
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน, แบ่งเช่าไว้แล้ว
.
เจ้าของที่ดินประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินออกจากกัน
โดยในขณะจดทะเบียนแบ่งแยก
คู่กรณีตกลงให้ที่ดินแปลงแยก
และแปลงคงเหลือยังมีการเช่าครอบติดอยู่ทั้งหมด
22.แบ่งแยกในนามเดิม (ครอบ-ปลอดการเช่า)
.

#ภาษาพูด
หมายถึง
ลุงกับ นาย ก. ทำสัญญาเช่าร่วมกัน
ต่อมาลุงเอาที่ดินไปแบ่งแปลง
โดยที่ดินที่แบ่งแปลงออกไปนั้น
บางแปลงยังมีการเช่าอยู่
และบางแปลงยุติการเช่าไป
.
.
.

#ภาษาเขียน
หมายถึง
กรณีที่ที่ดิน
ได้มีการจดทะเบียนเช่า
เช่าเฉพาะส่วน, แบ่งเช่าไว้แล้ว
.
เจ้าของที่ดินประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินออกจากกัน
ตั้งแต่สองแปลงขึ้นไป
โดยในขณะจดทะเบียนแบ่งแยก
คู่กรณีตกลงกัน
ให้ที่ดินแปลงคงเหลือ
และแปลงที่แยกออกไปบางแปลง
ยังคงมีการเช่าอยู่
และบางแปลงที่มีการเช่าอยู่พ้นจากการเช่า
⚠หมายเหตุ⚠
โปรดศึกษาลักษณะการเช่าให้ดี
ก่อนทำสัญญาเช่า
เพราะถ้าจดสัญญาเช่าผิดประเภท
ความหมาย, ขอบเขตและสิทธิ์ประโยชน์
ก็จะเปลี่ยนตามการจดไปด้วย
เดี๋ยวจะมีปัญหาตามมากันนะจ๊ะ
.
ถ้ามีอันไหนที่ผมอธิบายหรือเข้าใจผิด
แจ้งได้เลยนะครับ
ขอบคุณครับ
.
.
.
ปริณวัชญณ์ คณะภัควรรษณ์ (เอ็กซ์)
เอเจ้นท์ฟิวแฟนแห่งดินแดนห้วยขวาง
.
ผู้บริหารบริษัท แมทชิ่ง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
รับฝากขาย / เช่า / จำนอง / ขายฝาก
"แค่กรุงเทพ"
.
ติดต่อ 095-645-9656 (ผจก.คนสวยคอยให้บริการ)
หรือไลน์ OA : @matchingproperty
.
ปล.อย่าขอเบอร์ส่วนตัวเลย รับไม่ไหว 🥹

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ดูหัวข้ออื่นเพิ่มเติม